เกี่ยวกับโครงการ

หลักการและเหตุผล

จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคกลางและปริมณฑลของกรุงเทพมหานครที่รองรับการขยายตัวจากกรุงเทพมหานคร ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและบริการ การขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงข่ายคมนาคมขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการขยายตัวของเมืองสมุทรปราการจึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการทางผังเมืองเป็นเครื่องมือในการควบคุมและส่งเสริมการพัฒนาของเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง การสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การบริการสาธารณะและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

จังหวัดสมุทรปราการประกาศกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองสมุทรปราการฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 และมีการปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการตามลำดับ ปัจจุบันมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 ประกาศใช้บังคับในเขตจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 (ณ ปีที่จัดทำรายงานการประเมินผลกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556) ในมาตรา 26 กำหนดว่าการใช้บังคับผังเมืองรวมให้กระทำโดยกฎกระทรวงและต้องมีสาระสำคัญ ตามมาตรา 17 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้วแต่กรณีจัดทำรายงานการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมการใช้บังคับผังเมืองรวมตามระยะเวลาที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อครบระยะเวลา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการได้ทำการประเมินผลผังเสนอต่อคณะกรรมการผังเมืองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งคณะกรรมการผังเมืองพิจารณาแล้วมีแนวทางให้ปรับปรุงข้อมูลจำนวนประชากรเป้าหมายในการวางผังฯ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ปรับปรุงข้อกำหนดและการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ด้านสิ่งแวดล้อมให้จัดหาสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเพิ่มเติมและจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน การคัดแยกขยะโดยใช้หลักการนำมาใช้ใหม่ (3R) และจัดหาพื้นที่นันทนาการให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่และด้านการคมนาคม นโยบาย โครงการของรัฐให้ปรับปรุงเส้นทางคมนาคม ระบบเชื่อมต่อ และวางผังพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้า (TOD) เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีเหลือง และสีม่วงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และมีมติเห็นชอบการประเมินผลกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2556 โดยให้ปรับปรุงผัง

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการในฐานะเจ้าพนักงานผัง จะดำเนินการให้มีการวาง/ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงกับศักยภาพพื้นที่แต่ละบริเวณรวมทั้งเป็นการปรับปรุงผังเพื่อให้เชื่อมโยงกับผังกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบไร้รอยต่อ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ต่อไป

วัตถุประสงค์

1. เพื่อศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล ด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม ระบบคมนาคมและโครงข่ายความเชื่อมโยง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ พื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการวางและปรับปรุงผังเมือง

2. เพื่อวาง / ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้สอดคล้องกับบทบาทศักยภาพ ปัญหา และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนความต้องการของประชาชนเพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชน และประกาศใช้บังคับต่อเนื่องจากกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ
พ.ศ. 2556

3. เพื่อศึกษาจัดทำแผนงานโครงการพัฒนา และแผนปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ ในอนาคต

เป้าหมาย

ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดำเนินการวาง/ ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตวางผังเมืองรวมสมุทรปราการ และพื้นที่ในเขตปกครองของจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งพื้นที่เกี่ยวเนื่องและพื้นที่ที่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และเป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง โดยสามารถกำหนดทิศทางและรูปแบบการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ

ขอบเขตด้านระยะเวลาดำเนินการ

ระยะเวลาการดำเนินการ 420 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง (ทั้งนี้ ไม่นับระยะเวลาการพิจารณาตรวจรับงานและการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งการพิจารณาของคณะกรรมการตามขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562)

ขอบเขตการดำเนินงาน

ขอบเขตพื้นที่ศึกษาโครงการและพื้นที่ต่อเนื่อง

ครอบคลุมพื้นที่กำหนดเขตวางผังเมืองรวมสมุทรปราการ ตามแนวเขตปกครองของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึงพื้นที่เกี่ยวเนื่อง เป็นพื้นที่ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรวม ซึ่งมีลักษณะสภาพทางกายภาพที่มีความสัมพันธ์กันเป็นพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำท่าจีน เจ้าพระยาและบางประกง รวมถึงพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาที่สำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่เกี่ยวเนื่องที่เป็นพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยขอบเขตพื้นที่ศึกษาการวางและจัดทำผังเมืองรวม ที่ได้กำหนดให้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 2 ระดับ ประกอบด้วย

  1. ขอบเขตการปกครองของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่ต่อเนื่อง
  2. ขอบเขตการปกครองของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

แผนที่แสดงขอบเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง

แผนที่แสดงพื้นที่เขตการปกครองส่วนภูมิภาคของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ขอบเขตการปกครองของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ระดับพื้นที่โครงการครอบคลุมเขตการปกครองจังหวัดสมุทรปราการ : โดยมีขอบเขต ดังนี้

ทิศเหนือ ติดกับ กรุงเทพมหานคร
ทิศใต้ ติดกับ อ่าวไทย (พื้นที่ชายฝั่งทะเล)
ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดกับ กรุงเทพมหานคร

แผนที่แสดงพื้นที่เขตการปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ขอบเขตการดำเนินงาน

1 งานจัดทำแผนที่ งานเตรียมการฐานข้อมูล และจัดทำข้อมูลแผนที่ฐาน (Base map) แผนที่นามศัพท์ แผนที่กรรมสิทธิ์ แผนที่รูปแปลงที่ดินและแผนที่อื่นๆ ตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง และแผนที่สำหรับประสานหน่วยงาน 245 หน่วยงาน
2 งานศึกษาทางวิชาการ

  • 2.1 รวบรวมและศึกษาข้อมูลรายสาขาของจังหวัดสมุทรปราการรายสาขา
    • ด้านนโยบาย
    • ด้านกายภาพ
    • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • แผนที่ฐาน (Base Map)
    • ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคาร
    • ด้านประชากร
    • ด้านเศรษฐกิจ
    • ด้านสาธารณูปการและสังคม
    • ด้านระบบคมนาคมและขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
    • ด้านสาธารณูปโภค
    • ด้านระบบการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม
    • ด้านการท่องเที่ยว
    • ด้านระเบียบและกฎหมาย
    • เมืองตัวอย่างในต่างประเทศ
  • 2.2 วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการวิเคราะห์รายสาขา
    • ความสัมพันธ์ของนโยบาย โครงการพัฒนาที่ส่งผลต่อพื้นที่
    • ข้อจำกัดการใช้พื้นที่ทางกายภาพ แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ/พื้นที่เสี่ยงภัย
    • สภาพการตั้งถิ่นฐาน การใช้ที่ดิน ทิศทางแนวโน้มการพัฒนาเมือง เกษตรกรรม อุตสาหกรรม
    • การกระจายตัว การเปลี่ยนแปลง และการคาดประมาณประชากร และแรงงาน
    • โครงสร้างเศรษฐกิจ รายได้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์
    • ประสิทธิภาพของการให้บริการโครงข่ายคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ
    • ประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม
    • ศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว แหล่งศิลปวัฒนธรรม
    • การใช้บังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะมาตรการและวิธีดำเนินการทางผังเมือง
  • 2.3 วิเคราะห์ความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity)
  • 2.4 สรุปผล และบูรณาการผลการวิเคราะห์ (ศักยภาพ ปัญหา ข้อจำกัด แนวโน้มทิศทางการขยายตัวของเมือง การวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ บทบาทของเมือง ฯลฯ)
  • 2.5 วิเคราะห์ความต้องการใช้พื้นที่
  • 2.6 จัดทำผังแนวคิด
  • 2.7 จัดทำและประเมินผังทางเลือก
  • 2.8 กำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปผนวกกับหลักวิชาการทางผังเมือง โดยคำนึงถึงสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม โรคอุบัติใหม่ การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและความเจริญก้าวหน้าของเมือง
  • 2.9 จัดทำแผนผังโครงสร้าง (Structure Plan)
3 งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม

  • การจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่น้อยกว่า 150 คน
  • การจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการ องค์กรและสมาคมวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่น้อยกว่า 150 คน
4 งานวางและจัดทำผังเมืองรวม ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม องค์ประกอบตาม พรบ. ผังเมือง พ.ศ. 2562

  • วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวม
  • แผนที่แสดงขอบเขตของผังเมืองรวม
  • แผนผังที่ทำขึ้น มีสาระสำคัญดังนี้
    • แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท
    • แผนผังแสดงที่โล่ง
    • แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง โดยแสดงการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมและขนส่ง
    • แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ
    • แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • แผนผังแสดงผังน้ำ
    • แผนผังอื่นๆ ที่จำเป็น
  • รายการประกอบแผนผัง
  • ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • นโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม
  • ผังกลยุทธ์ ระยะ 5 10 15 และ 20 ปี
5 งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมฯ จำนวนทั้งหมด 3 กลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 600 คน ดังนี้

  • กลุ่มอำเภอพระสมุทรเจดีย์ และอำเภอพระประแดง
  • กลุ่มอำเภอเมืองสมุทรปราการ และอำเภอบางพลี
  • กลุ่มอำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง
6 ดำเนินการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม
7 จัดทำโครงการพัฒนาตามผัง โดยกำหนดแผนงานหลักและจำนวนโครงการพัฒนาพื้นที่ จัดลำดับความสำคัญ จัดทำแผนปฏิบัติการวางผังและออกแบบโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรูปแบบสถาปัตยกรรม โดยกำหนดงบประมาณโดยประมาณ ระยะเวลาในการดำเนินการของแต่ละโครงการ รวมถึงองค์กรหน่วยงานที่รับผิดชอบ วิธีการมาตรการ ปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและวิธีการแก้ไขวิธีการ มาตรการ ปัญหาอุปสรรคที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
8 ดำเนินการประชุมต่อคณะกรรมการในชุดต่างๆ ตามขั้นตอนที่กรมโยธาธิการและผังเมืองกำหนด
(ในกรณีดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ดังนี้

  • การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม
  • การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
  • การประชุมความเห็นกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
  • การประชุมคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด

ขั้นตอนการวางและปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3)

การวางและปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ประกอบด้วยแผนผังต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในมาตรา 22 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562  มีขั้นตอนการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวม 8 ขั้นตอน

แผนดำเนินงานโครงการ

1. ระยะเวลาดำเนินการ

ระยะเวลาในการดำเนินการโครงการจ้างที่ปรึกษาวาง/ ปรับปรุงผังเมืองรวมสมุทรปราการ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ตามขอบเขตและเงื่อนไขในการดำเนินการเป็นระยะเวลา 14 เดือน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา หรือตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2563 ถึง 19 พฤศจิกายน 2564

2. แผนการดำเนินการและการส่งมอบงาน

  1. รายงานเบื้องต้น (Inception Report) ภายใน 30 วัน (1 เดือน) นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
  2. รายงานความก้าวหน้า (Progress Report) ภายใน 60 วัน (2 เดือน) นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
  3. รายงานการศึกษาขั้นกลาง (Interim Report) ภายใน 210 วัน (7 เดือน) นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
  4. รายงานการศึกษาร่างฉบับสมบูรณ์ (Draft Final Report) ภายใน 300 วัน (10 เดือน) นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง
  5. รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) ภายใน 420 วัน (14 เดือน) นับถัดจากวันลงนามในสัญญาจ้าง

3. ความก้าวหน้าโครงการ

การดำเนินโครงการ ณ เดือน พฤษภาคม 2566 อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนที่ 3 การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ตามมาตรา 9) ขั้นตอนนี้ สำหรับการประชุมประชาชนเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ และครอบคลุมการดำเนินการประชุมคณะกรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม และการประชุมคณะอนุกรรมการผังเมืองเพื่อประสานยุทธศาสตร์และแผนงานในการวางและจัดทำผังเมือง


Start typing and press Enter to search

Shopping Cart